ทำความรู้จัก “โรคฝีดาษลิง” อาการ การรักษาและวิธีป้องกัน

by Happy Wonder

ฝีดาษลิงที่กำลังเป็นที่พูดถึงกันในตอนนี้ หลายคนทั้งกลัวและวิตกกังวล และตามมาด้วยคำถามมากมาย เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคนี้มาฝากเพื่อนๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องกันค่ะ

โรคฝีดาษลิง หรือไข้ทรพิษลิง เกิดจากไวรัส Othopoxvirus ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกันกับไวรัสโรคไข้ทรพิษ (Smallpox) ค่ะ โดยจะพบเชื้อในสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระแต เป็นหลัก โดยเชื้อตัวนี้พบครั้งแรกในลิง จึงเป็นที่มาของชื่อโรคฝีดาษลิงนั่นเองค่ะ
ซึ่งส่วนใหญ่ระบาดอยู่ในทวีปแอฟริกา จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น อัตราการเสียชีวิต 1-10% ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์ Congo Basin พบอัตราการเสียชีวิต 10% และ สายพันธุ์ West African พบอัตราการเสียชีวิต 1%

อาการของโรค
เชื้อโรคตัวนี้ใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 7-14 วัน ผู้ติดเชื้อจะมีอาการ ไข้สูง หนาวสั่น ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ปวดกระบอกตา ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วร่างกาย จะเป็นตุ่มผื่น ตุ่มหนอง ซึ่งถือเป็นจุดเด่นที่สังเกตได้ชัดเจนของโรคนี้ โดยจะเกิดขึ้นหลังจากที่มีไข้มาประมาณ 3-4 วันค่ะ
โดยลักษณะของผื่นจะเริ่มจากจุดแดงๆ หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส ตุ่มหนองขนาดใหญ่ และกลายเป็นสะเก็ดในเวลาต่อมา ซึ่งในช่วงที่ผื่นเป็นตุ่มน้ำใสและตุ่มหนองจะเป็นช่วงระยะเวลาที่สามารถแพร่เชื้อได้สูงสุดเลยล่ะค่ะ

การติดต่อแพร่เชื้อ
– จากสัตว์สู่คน ได้แก่ สัตว์ฟันแทะทุกชนิด โดยติดต่อจากการสัมผัสโดยตรงกับเลือด น้ำหนอง และสารคัดหลั่งต่างๆ ของสัตว์ หรือการถูกสัตว์ที่ติดเชื้อกัดข่วน และการรับประทานเนื้อสัตว์ปรุงไม่สุก
– จากคนสู่คน โดยการสัมผัสโดยตรงกับสารคัดหลั่งของผู้ป่วย อย่างไอ จาม ผื่น ตุ่มหนอง และสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อของผู้ป่วย การสัมผัสตามผิวหนังหรือผ่านทางเยื่อบุทางเดินหายใจจากการพูดคุย สัมผัสใกล้ชิด การจูบ เป็นต้นค่ะ

วิธีการรักษา
หากเราพบเชื้อจะต้องแยกตัวออกจากผู้อื่นเป็นเวลา 21 – 28 วัน จนกว่าผื่นจะตกสะเก็ด ผู้ป่วยจะสามารถหายจากโรคได้เองในระยะเวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ ในกรณีที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัว จะมีการรักษาโดยใช้ยา Tecovirimat, Cidofovir, Brincidofovir ซึ่งเป็นยากลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคไข้ทรพิษนั่นเองค่ะ

วิธีการป้องกัน
– ไม่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ผู้ที่สงสัยเสี่ยงติดเชื้อ หรือมีประวัติสัมผัสผู้ป่วย
– ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น
– ไม่นำมือไปสัมผัสผื่น ตุ่ม หนอง ของผู้ที่เสี่ยงติดเชื้อ
– เชื้อโรคสามารถถูกทำลายได้ด้วยแอลกอฮอล์ เราจึงควรหมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยแอลกอฮอล์ 70% ขึ้นไป
– เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก
– สวมหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านละออง
– ระวังสัตว์กัดหรือข่วน

โรคฝีดาษลิงถึงจะดูน่ากลัว แต่โอกาสที่ถึงขั้นเสียชีวิตก็มีไม่มาก ยิ่งถ้าเรารู้จักป้องกันและระมัดระวังตัวเองในการใช้ชีวิต รับรองว่าปลอดภัยไกลโรคค่า

ข้อมูลโดย : แพทย์หญิงวรฉัตร เรสลี , รศ. พญ. พรรณพิศ สุวรรณกูล

 

Related Posts